สตูดิโอชุมชน เริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการจัดการศึกษาบนฐานงานจริง (Work-Based Learning) ให้กับสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร (Not-for-Profit Organization) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใน (Transformative Learning) โดยเน้นวิธีเรียนจากการทำงานจริง เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจ เกิดเป็นความรู้ที่เข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวของผู้เรียน

แนวทางการทำงานของสตูดิโอชุมชน จึงเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อสร้างประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมได้อย่างแท้จริง เป็นการสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้ จากสภาวะการทำงาน ผู้คน และเรื่องราวที่เกิดขึ้น
ในการเผชิญกับปัญหาที่มีความท้าทายในหลากหลายมิติ แนวทางการทำงานที่จะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมปัจจุบัน ไม่อาจเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล หรือวิชาชีพสถาปนิกเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจาก “ปฏิบัติการทางสังคม” ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งชุมชน เจ้าของโครงการ ผู้ใช้งาน ผู้ออกแบบ จนถึงภาครัฐและภาคประชาสังคม ที่เข้ามา “มีส่วนร่วม” ในการ “แลกเปลี่ยน-เรียนรู้” เพื่อร่วมกันคิดและสร้าง “ความเปลี่ยนแปลง” ผ่านการออกแบบและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
โดยมีหลักคิดในการทำงาน 4 ประการ คือ

1. บูรณาการระหว่างวิชาชีพและวิชาการ (Holistic approach)

แนวคิดการทำงานแบบบูรณาการ (Holistic approach) ที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากงานวิจัย และเทคโนโลยีที่นำสมัย มีประสิทธิภาพ ในการแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการ ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความซับซ้อน และต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายมิติ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพ ทั้งด้าน สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง พลังงาน ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาวะ

2. ร่วมคิด ร่วมทำ ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (Participation)

หลักคิดในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยสถาปนิกมีบทบาทเป็น กระบวนกร (Facilitator) ที่จะอำนวยการให้เกิดการ “ร่วมคิด ร่วมทำ” ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้คุณค่า ต้นทุน โอกาส และปัญหาของชุมชนอย่างรอบด้าน นำไปสู่การระบุโจทย์ที่มาจากชุมชน และการสร้าง“ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)” การสร้างทางเลือกที่เหมาะสม จนถึงการตัดสินใจและลงมือปฏิบัติเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การมีองค์กรชุมชน และประชาสังคมที่เข้มแข็ง

3. คิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อชุมชน สังคม (Creativity)

ท่าทีในการทำงานโดยให้ความสำคัญกับการเป็นผู้รับฟัง และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Empathy) โดยการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเป็นระบบ รวมถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรม องค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบกระบวนการและพื้นที่กายภาพ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (Win-Win Solution)

4. ริเริ่มปฏิบัติการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง (Leaning by Doing)

ปรัชญาการทำงานที่มุ่งแก้ปัญหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการวางแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพและความเป็นจริง รวมถึงการริเริ่มกิจกรรมนำร่อง ให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลง และร่วมขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ทุกฝ่ายได้เห็นศักยภาพและข้อจำกัดของตนเองและทีม เป็นการสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้จากการทำงาน